ศักยภาพของไส้เดือนน้ำในการปรับปรุงคุณภาพดินตะกอนจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

SDG14

     การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) รวมถึงการสร้างรายได้ หรือการประกอบอาชีพของเกษตรกร ขณะเดียวกันก็อาจก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำ และดินตะกอน [1], [2] การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นประเด็นปัญหาสำคัญเพื่อความยั่งยืนในการประกอบอาชีพของเกษตรกร รวมถึงการมีผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นและคุณภาพดี

     การบำบัดทางชีวภาพ (bioremediation) เป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหามลภาวะในสิ่งแวดล้อมโดยการใช้สิ่งมีชีวิต ในการกำจัดและลดความเป็นพิษของสารมลพิษ การบำบัดทางชีวภาพไม่ทำให้เกิดสารพิษตกค้างสะสมในธรรมชาติซึ่งต่างจากการใช้สารเคมีในการบำบัด [3], [4] ไส้เดือนน้ำมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียสารหรือสารมลพิษและการรบกวนชั้นดินตะกอนจากการกินอาหาร การขุดรูหรือสร้างท่ออาศัยช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายอินทรียสารและกระบวนการทางเคมี เพื่อลดความเป็นพิษของสารพิษในดิน ตลอดจนเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดิน [5], [6]  

การศึกษาประสิทธิภาพของไส้เดือนน้ำในการบำบัดคุณภาพดินที่มีปริมาณอินทรียสารสูง (7.51 เปอร์เซ็นต์)จากบ่อเลี้ยงปลา แสดงให้เห็นว่าไส้เดือนน้ำ Branchiura sp. (วงศ์ Tubificidae) (ภาพที่ 1ก) สามารถนำมาใช้ในการบำบัดชีวภาพของดินเนื่องจากมีศักยภาพสูง โดยไส้เดือนน้ำ Branchiura sp. ที่ความหนาแน่นปกติ(100 ตัว/ตารางเมตร) สามารถลดปริมาณสารอินทรีย์เป็น 4.67 – 19 เท่าของชุดทดลองที่ไม่มีไส้เดือนน้ำ และเมื่อเพิ่มความหนาแน่นเป็นสองเท่าของปกติ (200 ตัว/ตารางเมตร) จะพบปริมาณสารอินทรีย์ลดลง เป็น 9.11 – 23.33 เท่า ซึ่งเมื่อเทียบศักยภาพการปรับปรุงดินตะกอนกับไส้เดือนน้ำ Tubifex sp. (วงศ์ Tubificidae) (ภาพที่ 1ข) และ Dero sp. (วงศ์ Naididae) (ภาพที่ 1ค) พบว่าไส้เดือนน้ำ Branchiura ที่ความหนาแน่นปกติสามารถลดปริมาณสารอินทรีย์ได้เป็น 8.14 – 14.00 และ 9.20 – 14.25 เท่าของ Tubifex sp. และ Dero sp. ที่ความหนาแน่นปกติ (500 และ 50 ตัว/ตารางเมตร ตามลำดับ)

 

ภาพที่ 1 รูปร่างลักษณะของไส้เดือนน้ำและลักษณะดินตะกอนจากกิจกรรมการขุดรู
(ก) ไส้เดือนน้ำ Branchiura sp. (ข) ไส้เดือนน้ำ Tubifex sp.(ค) ไส้เดือนน้ำ Dero sp.
(ง,จ) ดินตะกอนจากการขุดรูชอนไชของไส้เดือนน้ำ Branchiura sp.
(จ) มูลดินชั้นผิวดินเหนือรูของไส้เดือนน้ำ Branchiura sp.

     ส่วนความหนาแน่นของ Branchiura sp. ที่เพิ่มขึ้น เป็นสองเท่าของปกติสามารถลดปริมาณสารอินทรีย์ในดินตะกอน เป็น 5.38 – 7.45 และ 11.67 – 12.25 เท่าของไส้เดือนน้ำTubifex sp. และ Dero sp. ที่ความหนาแน่นสองเท่าของปกติ ตามลำดับ [7]

     ไส้เดือนน้ำ Branchiura sp. สามารถใช้ในการปรับปรุงคุณภาพดินตะกอนโดยการลดปริมาณอินทรียสารในดินตะกอนจากบ่อเลี้ยงปลาได้มาก (ภาพที่ 1 ง,จ) จึงมีศักยภาพในการพัฒนาใช้ไส้เดือนน้ำชนิดนี้ในการบำบัดชีวภาพของดินตะกอนที่มีปริมาณอินทรียสารสูงต่อไป เป็นแนวทางการบำบัดโดยใช้ธรรมชาติไม่มีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นแนวทางสร้างรายได้ จากการเก็บเกี่ยวไส้เดือนน้ำเพื่อเป็นอาหารสัตว์น้ำอีกด้วย

ที่มาของบทความ : วารสารเกษตรหันตรา ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566



Tag : #SDGs14

หน่วยงาน : เทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร



ข้อมูลจาก : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐกิตทิ์ โตอ่อน


48 ครั้ง

Address

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา
เลขที่ 60 หมู่ 3 ถ.สายเอเซีย (กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ )
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา
จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์/โทรสาร : 035-709081

การให้บริการ

สถิติการเข้าชม
  • วันนี้ : 88 ครั้ง
  • เดือนนี้ : 1583 ครั้ง
  • ปีนี้ : 6059 ครั้ง
  • ทั้งหมด : 31008 ครั้ง

Copyright ©2020 RUS-SDGs | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ