ตามที่สภานโยบาย อววน. มีนโยบายให้หน่วยงานขับเคลื่อนและดำเนินงานตามวาระอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จึงได้ดำเนิน “โครงการการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสู่การเป็นสถาบันชั้นนำด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของภาคกลางตอนบน ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) กับ บริษัท อัตถจริยา จำกัด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ณ อาคารพืชศาสตร์ (อาคาร 2) คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ วิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคมในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในภาคการเกษตรให้แก่ชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการเผยแพร่ผลงานที่ดำเนินการและขยายผลการสร้างภาคีเครือข่ายในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศชุมชน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในภาคการเกษตร โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
โดยมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกับบริษัท อัตจริยา จำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์ปฏิบัติการ Community Climate Action ดังนี้
1. สาขาวิชาพืชศาสตร์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมวิจัยกับ บริษัท อัตจริยา จำกัด ในพื้นที่สวนทุเรียน จังหวัดจันทบุรี ในการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากสวนทุเรียนมาทำกระถางในการปรับปรุงดินและทดแทนการใช้กระถางพลาสติก
2. สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศโดยชุมชน การวิเคราะห์ดิน และคำนวณการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ให้แก่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านชากไทยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ชอง-มู-แฮง วิสาหกิจแปลงใหญ่ทุเรียนวังโตนดร่วมใจ วิสาหกิจชุมชน ล่องคลอง-ดูเหยี่ยว-เที่ยวป่า และวิสาหกิจชุมชนชิ่มช่องค์ว่ายกะทองค์ ณ อาคารพืชศาสตร์ (อาคาร 2) คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
3. สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ปฏิบัติการกิจกรรมพัฒนาองค์ความรู้ หลักสูตร และนวัตกรรม ในการประกอบแชมเบอร์เพื่อวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์ปฏิบัติการ Community Climate Action บ้านสองคอน จังหวัดนครพนม
4. สาขาวิชาพืชศาสตร์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ปฏิบัติการเก็บหญ้าทะเล เพื่อนำไปทำวิจัย ทำการขยายต้นหญ้าทะเล เเละการเลี้ยงดูหญ้าทะเล เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการงอกของหญ้าทะเลให้ได้เพิ่มขึ้น ณ บ้านท่าปากเเหว่ง หมู่ 11 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมนับเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อ 17 : ความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมาย โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรภายในคณะ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการดำเนินกิจกรรม และกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อ 13 การดำเนินการด้านภูมิอากาศ
Tag : #ทอsdgs17.2 # ทอsdgs17.2.1 # ทอsdgs17.2.2 # ทอsdgs17.2.4 # ทอsdgs17.2.5